About Founder
วัน-เดือน-ปี เกิด วันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1912
สถานที่เกิด เมืองแฮมสตีด ( ตอนเหนือของลอนดอน) ประเทศอังกฤษ
บิดา-มารดา เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน ของ Harry Edward Maddox –
Bertha Taylor เป็นชาวอังกฤษ ท่านทั้งสองเคยเป็นมิชันนารี Church
Missionary Society ประเทศอูกันดา ต่อมาย้ายมาอยู่ประเทศอังกฤษ
การศึกษา
มัธยมศึกษา โรงเรียน อัลเดนแฮม (Aldenham school)
อุดมศึกษา แพทย์ศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) ค.ศ. 1935
ประสบการณ์ทำงาน โรงพยาบาล เซ็นต์ บาโธโลมิว ( Sr. Batholomew’s Hospital)
สมรส แพทย์หญิงแคทเธอรีน ซิมมอนส์ ค.ศ. 1946
นายแพทย์คริสโตเฟอร์ แม็ดด็อกซ์ สนใจในงานมิชชั่น ท่านจึงได้สมัครเป็นมิชชันนารีคณะ China Inland Mission (O.M.F. ในปัจจุบัน) และออกเดินทางไปประเทศจีน ในปี ค.ศ. 1938 ได้ทำงานที่โรงพยาบาลที่เมืองโปนิง (Paoning) อยู่ในภาคตะวันออก ของมณฑลเสฉวน และที่นี่ท่านได้พบกับ แพทย์หญิงแคทเธอรีน ซิมมอนส์ ทั้งสองได้เข้าสู่พิธีสมรส ในปี ค.ศ. 1946 ที่ประเทศอังกฤษ และท่านทั้งสองได้เดินทางกลับไป เมืองโปนิง อีกครั้งหนึ่งในปี 1949 ซึ่งเป็นเวลาที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ เริ่มปกครองประเทศจีน
ในปี 1952 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ได้ให้ชาวต่างชาติออกจากประเทศจีน นพ. คริสโตเฟอร์ และภรรยา จำต้องเดินทางออกจากประเทศจีน
หลังจากที่คณะมิชชันนารี China Inland Mission ออกจากประเทศจีน และได้ตั้งชื่อเป็น OMF. (Overseas Missionary Fellowship) นพ. คริสโตเฟอร์ และภรรยาได้เดินทางมาประเทศไทย และระหว่างออกจากประเทศจีน ก่อนมาประเทศไทย ท่านทั้งสองได้ไปทำงานช่วงสั้น ๆ ที่ประเทศอูกันดา ซึ่ง นพ. คริสโตเฟอร์ เขียนหนังสือชื่อ “Set a Watchman” ซึ่งทำให้เกิดหนังสือ “Operation World” ในเวลาต่อมา
นายแพทย์คริสโตเฟอร์ เป็นที่รักอย่างมากมายของผู้ที่ท่านรับใช้ ท่านมีภาพที่ชัดเจน ในการพัฒนาโรงพยาบาล และเสริมสร้างคนไทยที่มีบทบาทในงานรับใช้
นายแพทย์คริสโตเฟอร์ และ ภรรยา จากงานรับใช้ที่โรงพยาบาลคริสเตียนมโนรมย์ และ OMF. ในปี 1969 ต่อมาในปี 1970 ท่านได้เดินทางไปทำงานในประเทศลาว กับองค์การ Asian Christian Service ได้ก่อตั้งโรงพยาบาลเล็ก ๆ ในชนบท ที่ ปากซอง ประเทศลาว (Paksong) และจากการทำงานนี้ นายแพทย์ คริสโตเฟอร์ และ ภรรยา เป็นบุคคลสุดท้ายที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากประเทศลาวในปี 1975 หลังจากนั้น คอมมิวนิสต์ได้ยึดครองประเทศลาว และจากสงครามอเมริกัน ในแถบอินโดจีน มีผู้อพยพได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก นายแพทย์คริสโตเฟอร์ ได้ออกจากประเทศลาว และได้ก่อตั้งโรงพยาบาลเล็ก ๆ ขึ้น 2 แห่ง ที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน และที่อำเภอ แม่จริม จังหวัดเชียงใหม่ และได้ก่อตั้งคริสตจักรหลายแห่งรวมถึงคริตจักรในศูนย์อพยพด้วยท่านอยู่ที่นี่เป็นเวลา 4 ปี ท่านมีทีมงานที่ดีเยี่ยม เป็นทีมงานที่ได้รับการฝึกอบรมจากมโนรมย์
ในปี 1979 แพทย์หญิง แคทเทอรีน ป่วยหนัก ทั้งสองจึงเดินทางกลับประเทศอังกฤษ ซึ่ง แพทย์หญิง แคทเทอรีน เสียชีวิตในปี 1980 ต่อมา นพ. คริสโตเฟอร์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ( Order of the British Empire ) จาก สมเด็จพระนางเจ้า อลิซาเบธ ที่ 2 แห่งอังกฤษ
นายแพทย์คริสโตเฟอร์ กลับมาทำงานใน อำเภอแม่จริม อีกเป็นเวลา 4 ปี ในปี 1984 ท่านได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แห่งประเทศไทย
ตลอดระยะเวลาที่ท่านอยู่ในประเทศไทยและประเทศลาว ท่านได้ให้โอกาสและให้ทุนการศึกษากับเยาวชน คนไทย และ คนลาว หลายคน ให้ได้มีโอกาสศึกษาต่อทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
หลังจากปี 1984 ในวัยชรา นพ. คริสโตเฟอร์ ได้อุทิศเวลาที่เหลืออยู่ รับใช้พระเจ้าที่สถานฟื้นฟูสุขภาพ โรงพยาบาลแมคเคน ในระหว่างนี้ท่านยังเดินทางไปทั่วเอเชีย และได้กลับไปเยี่ยมประเทศจีน เมื่อท่านมีอายุได้ 87 ปี ท่านได้หยุดงานและพักอยู่ที่บ้านที่จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 28-29 มีนาคม 2003 นายแพทย์คริสโตเฟอร์ ได้เดินทางมาร่วมพิธีเปิดอาคารผู้ป่วยนอกใหม่ ของโรงพยาบาลคริสเตียนมโนรมย์ นับเป็นการนำความชื่นชมยินดีมาสู่พวกเราอีกครั้งหนึ่ง
ในเดือนพฤศจิกายน 2003 ท่านได้หกล้มที่บ้านพักของท่าน และได้เข้าพักรักษาที่โรงพยาบาลแม็คคอมิค จังหวัดเชียงใหม่ และในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2003 โรงพยาบาล คริสเตียนมโนรมย์ ได้รับท่านมารักษาต่อที่มโนรมย์
เป็นพระกรุณาของพระเจ้าที่ท่านได้กลับมายังบ้านหลังแรกของท่านในประเทศไทย ในวาระสุดท้ายของท่านในโลกนี้ และท่านได้จากไปอยู่บ้านถาวรในเมืองบรมสุขเกษมกับองค์พระเยซูคริสต์ ในวันที่ 7 มกราคม 2004
นับว่าท่านเป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่างอันดีเลิศ สำหรับชนรุ่นหลัง ในความรักพระเจ้า ความเป็นผู้นำ ความรักต่อผู้ร่วมงาน ความมีคุณธรรม ความมุ่งมั่นทุ่มเทไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ความเสียสละอุทิศชีวิตเพื่อผู้อื่นตลอดชีวิตของท่าน อันเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้าที่ท่านรัก